FSRU คืออะไร?
FSRU ย่อมาจาก Floating Storage and Regasification Unit แปลได้ว่า โครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อการสร้างความมั่นคงในการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาว และการรองรับเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ โดยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ที่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas – LNG) และขนส่งโดยเรือขนส่ง LNG เดินทางมายังท่าเทียบเรือประเทศปลายทาง ก่อนจะขนถ่าย LNG เข้าสู่ FSRU เพื่อแปลงสภาพเป็นก๊าซส่งเข้าสู่ท่อลำเลียงไปยังจุดหมายปลายทางต่อไป

LNG คืออะไร?
ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG เริ่มต้นจากการได้ ‘ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas – NG)’ จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ นำไปผ่านกระบวนการคัดแยกจนกลายเป็นของเหลว หรือ LNG นั่นเอง จุดเด่นของ LNG คือ มีปริมาตรเล็กกว่าก๊าซธรรมชาติถึง 600 เท่า ทำให้สะดวกต่อการขนส่งได้ในปริมาณมากๆ สะอาด ปลอดภัย ไร้กลิ่น ปราศจากสารกัดกร่อน และติดไฟยาก เพราะเมื่อเกิดการรั่วไหล LNG จะระเหยขึ้นสู่อากาศทันที ไม่เหลือสารตกค้างในดิน โดย LNG ถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมกว่า 50 ปี ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะ และให้ความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรม โครงการ FSRU เสริมสร้างความมั่นคงการจัดหาเชื้อเพลิงพลังงาน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

คุณรู้หรือไม่?
ในชีวิตประจำวันของเรามีการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงของรถยนต์และในครัวเรือน ใช้เป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ผลิตพลาสติกและวัสดุสังเคราะห์ทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเรา เช่น พาชนะใส่อาหาร เสื้อผ้า อุปรณ์การเกษตร เป็นต้น ที่สำคัญยังเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าให้คนไทยทั้งประเทศถึงร้อยละ 60 ของกำลังผลิตทั้งหมด ดังนั้นก๊าซธรรมชาติจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราเลย (ข้อมูล ณ มกราคม 2561) .

ถึงเวลาลดความเสี่ยง
ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยได้ถูกขุดนำมาใช้งานอย่างต่อเนื่องเกือบ 40 ปีแล้ว ทำให้มีปริมาณสำรองลดลงและมีแนวโน้มจะหมดลงในอนาคต จึงต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) จากต่างประเทศ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานและลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน โดยปัจจุบันไทยมีการนำเข้า LNG อยู่ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี แต่คาดว่าปริมาณนำเข้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 34 ล้านตันต่อปีเลยทีเดียวในปี 2579 ตามความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น (ที่มา: Gas Plan 2015, กระทรวงพลังงาน)

FSRU เปิดประตูสู่ความมั่นคงด้านเชื้อเพลิง
ในการจัดหาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในระยะยาว รัฐบาล โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพ ก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ หรือ FSRU (Floating Storage and Regasification Unit) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตันต่อปี เพื่อจัดเก็บและแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซธรรมชาติส่งให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. คือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน โดยมีกำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ในปี 2567

พัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ด้วยโครงการ FSRU เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ระบบไฟฟ้าไทยมีความมั่นคงจากการใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลาย เศรษฐกิจจึงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีต่อไปในอนาคต โดยหัวใจสำคัญที่จะทำให้โครงการสำเร็จได้ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อประชาชนมีความรู้ความเข้าใจว่าการสร้างความมั่นคงทางพลังงานเป็นเรื่องใกล้ตัว อนาคตพลังงานไทยจึงจะเติบโตได้อย่างมั่นคง