การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory budgeting) ระดับท้องถิ่น

เทศบาลเมืองแสนสุข ภาพบรรยากาศ“การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory budgeting) ระดับท้องถิ่น ณ เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี” ในที่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 14.00 น. ประธาน อ.ก.พ.ร. ภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) อนุกรรมการ ประกอบด้วย นางสาวธีรดา ศุภะพงษ์  นางสาวอภิญญา สิระนาท รองหัวหน้าศูนย์วิจัยปัญญาประดิษฐ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (รศ.ดร. มงคล เอกปัญญาพงศ์) และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ประชุมหารือร่วมกับนายกเทศบาลเมืองแสนสุข (นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม) ปลัดเทศบาลเมืองแสนสุข (นายไพศาล สีนาคล้วน) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์และพัฒนารูปแบบการดำเนินงานที่มีความเหมาะสมในระยะต่อไป 

ผลจากการประชุม สรุปได้ดังนี้

1. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านแพลตฟอร์มกลาง ในเรื่อง “การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม” เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วม อำนวยความสะดวก เกิดการใช้จ่ายงบประมาณที่มีความโปร่งใส เหมาะสม และคุ้มค่า ซึ่งเป็นการสนับสนุนระบบการทำงานของท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

2. แพลตฟอร์มกลางนี้ จะนำมาช่วยเสริมการจัดทำแผนชุมชน แผนหมู่บ้าน แผนพัฒนาท้องถิ่น ของเทศบาลให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยมีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้ 1) เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอโครงการที่จะดำเนินการภายใต้งบประมาณที่เทศบาลกำหนด 2) ประชาชนร่วมลงคะแนนให้การสนับสนุนโครงการโดยโครงการที่ได้รับคะแนนสนับสนุนผ่านเกณฑ์ จะไปสู่การพิจารณาโดยเทศบาลต่อไป 3) เทศบาลดำเนินการพิจารณา คัดเลือก และประเมินความเป็นไปได้ของโครงการที่ประชาชนให้การสนับสนุน 4) ประชาชนร่วมลงคะแนนเสียงเลือกโครงการที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากเทศบาลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

3. เทศบาลเมืองแสนสุข ประสบปัญหาที่สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ปัญหาสุนัขจรจัด ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถควบคุมจำนวนสุนัขจรจัดในพื้นที่ได้ 2) การจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวและมหาวิทยาลัย ซึ่งมีสาเหตุของปัญหามาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การลักลอบทิ้งขยะข้างทาง 3) ปัญหาด้านการประกอบอาชีพ (แก้ปัญหาภาวะซบเซาของตลาดหนองมน) เนื่องจากปัจจุบันมีเส้นทางการคมนาคมหลากหลายมากขึ้น แหล่งของฝากมีจำนวนมากขึ้น ขาดเอกลักษณ์ ไม่มีความโดดเด่น ภูมิปัญญาของหนองมนไม่ได้รับการสืบทอด จึงทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดทุน ส่งผลต่อรายได้ของชุมชนและท้องถิ่น

4. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีการเยี่ยมชมพื้นที่ ดังนี้ 1) ปัญหาขยะจากการท่องเที่ยว ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย 2) ปัญหาสุนัขจรจัด ณ ศูนย์รับเลี้ยงดูสุนัขจรจัด 3) ปัญหาสภาวะซบเซาของตลาดหนองมน ณ ตลาดหนองมน ซึ่งทำให้เห็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง อันจะนำไปสู่แนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน